วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บทที่ 4 หลักการออกแบบนิทรรศการ

ความหมายของการออกแบบ
..............การออกแบบตรงกับภาษาอังกฤษว่า “design” ในภาษากรีก หมายถึง บทกวี (poetry) ต้องมีการวางเค้าโครงตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ผสมผสานกับความรู้สึกที่แสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างมีศิลปะและสุนทรียภาพ ต่อมามีความหมายครอบคลุมถึงงานทุกชนิดที่มีการออกแบบตามกฎเกณฑ์การจัดองค์ประกอบศิลป์เพื่อให้บรรลุถึงความงามอันสมบูรณ์ โดยไม่คำนึงถึงชนิดของงานไม่ว่าจะเป็นบทกวี เพลง บทละคร ท่ารำ ท่าเต้น ภาพปั้น ภาพเขียน งานการแสดงต่าง ๆ หรืองานพาณิชยศิลป์
.............จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า การออกแบบ หมายถึง ความคิดคำนึงหรือจินตนาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์โดยรวมขององค์ประกอบย่อยกับโครงสร้างของแต่ละเรื่อง ในการออกแบบเรื่องหนึ่ง ๆ นักออกแบบจะพยายามสร้างทางเลือกหลาย ๆ แบบโดยการสลับสับเปลี่ยนคุณสมบัติขององค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ขนาด พื้นผิว ตำแหน่ง ทิศทาง รูปร่าง รูปทรง จังหวะเพื่อให้ได้โครงสร้างที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นการออกแบบจึงเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นเสมอ
คุณค่าของการออกแบบ
............จากแนวคิดของนักวิชาการ วิรุณ ตั้งเจริญ การออกแบบเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับวัตถุที่มีคุณค่า 3 ประการ
.............1. เพื่อประโยชน์ใช้สอย
.............2. เพื่อคุณค่าทางความงาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับทัศนศิลป์
.............3. เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร
...........จากความคิดของเชอร์เมเยฟ การออกแบบมีคุณค่า
.............1. เหมือนกับเครื่องมือในการจัดระบบ
.............2. เป็นวิถีทางที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับบุคคล
.............3. เป็นกระบวนการพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดี
.............4. ช่วยให้เครื่องจักรกลเหมาะสมสอดคล้องกับมนุษย์ทางด้านกายภาพมากขึ้น
.............5. ทำให้การใช้ การผลิต และการเตรียมงานง่ายสะดวกสบายขึ้น
.............6. ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนในสังคมไม่ใช่ส่วนเกิน
.............7. เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอด หรือเป็นการวางแผนในเชิงทรัพยากร
............8. สามารถประหยัดด้านเศรษฐกิจโดยลดต้นทุนทางด้านแรงงานและอุปกรณ์
............9. สามารถประหยัดเวลา โดยการเสนอข้อมูลที่กระจ่างชัด
............10. กระตุ้นการสื่อสาร เป็นการช่วยให้บุคคลจำนวนมากขึ้น มีความเข้าใจต่อสื่อ
จุดมุ่งหมายของการออกแบบ
การออกแบบมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ
............1. การออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย เป็นกระบวนการคิดในการแก้ปัญหาโดยการจัดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เพื่อสนองความต้องการด้านกายภาพ คำนึงถึงความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นอย่างดี การออกแบบลักษณะนี้นักออกแบบควรคำนึงถึง
..............1.1 หน้าที่หรือประโยชน์ใช้สอย (function)
..............1.2 ความประหยัด (economy)
..............1.3 ความทนทาน (durability)
..............1.4 ความงาม (beauty)
..............1.5 โครงสร้าง (construction)
............2.การออกแบบเพื่อความงามและความพอใจ เป็นการออกแบบที่นิยมใช้กับศิลปกรรมหรืองานวิจิตรศิลป์ทุกแขนงอันได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี นาฎศิลป์และวรรณกรรม ผลงานเหล่านี้เกิดจากการถ่ายทอด “ความงาม” โดยใช้ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ผสมผสานกับความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญถ่ายทอดผ่านสื่อหรือวิธีการที่แต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน จนกลายเป็นศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว
การออกแบบนิทรรศการ
...........การออกแบบนิทรรศการเป็นการจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องซึ่งกันและกันทั้งที่เป็นเนื้อหาเรื่องราว วัสดุอุปกรณ์ รูปแบบ งบประมาณ สถานที่ และลักษณะธรรมชาติของผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย
วัตถุประสงค์ของการออกแบบนิทรรศการ
............1. เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ประชาชนได้รับความรู้และประสบการณ์จากการจัดนิทรรศการ
............2. เป็นการประหยัดเวลา งบประมาณ และแรงงานในการลองผิดลองถูกกับสถานที่จริง ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อความล้มเหลว อันอาจเกิดจากข้อจำกัดหลายประการ
............3. เพื่อเป็นการกระตุ้นและดึงดูดความสนใจประชาชนให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร
............4. การออกแบบที่ดีเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ดูแปลกตาและน่าทึ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันเนื่องมาจากความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ
............5. เพื่อเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบของสื่อต่าง ๆ และเนื้อหาให้มีลักษณะกระชับ สวยงามตรงประเด็น เข้าใจง่าย
หลักการออกแบบในการจัดนิทรรศการ
1. ความเป็นเอกภาพ
............เอกภาพ (unity) หมายถึง ผลรวมขององค์ประกอบที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นหน่วยเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นเรื่องเดียวกัน มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันและกลมกลืนกัน นอกจากความเป็นเอกภาพจะสามารถดึงดูดความสนใจได้ดีแล้ว ยังช่วยในการสื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจสาระได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย
............ประโยชน์ของความเป็นเอกภาพในนิทรรศการ มีประโยชน์ทั้งต่อผู้จัดและผู้ชมหลายประการคือ ป้องกันความสับสนและความเข้าใจผิด สะดวกในการจัดการและดำเนินงาน มีจุดเด่นเป็นลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เป็นการนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับวัตถุประสงค์ สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย สามารถจำแนกปัญหาและอุปสรรคได้ชัดเจน
...........ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความเป็นเอกภาพแสดงออกให้เห็นรูปแบบต่าง ๆ ดังตัวอย่าง เช่น
..............ความใกล้ชิด (proximity)
..............การซ้ำ (repetition)
..............ความต่อเนื่อง (continuation)
..............ความหลากหลาย (variety)
..............ความกลมกลืน (harmony)
2. ความสมดุล
...........ความสมดุล (balance) เป็นลักษณะการจัดองค์ประกอบให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ชมคล้อยตามโดยไม่รู้ตัว ความสมดุลช่วยให้ผู้ชมรู้สึกสบายไม่อึดอัดในขณะชมนิทรรศการ เพราะความสมดุลทำให้เกิดความรู้สึกพอดีและเหมาะสมกับธรรมชาติของเนื้อหา ความสมดุลในการออกแบบสื่อทัศนศิลป์ในนิทรรศการเป็นการถ่วงดุลขององค์ประกอบต่าง ๆ ให้ความรู้สึกว่ามีปริมาณ ขนาดหรือน้ำหนักของแต่ละด้านเท่าเทียมกัน
..........2.1 ประเภทของความสมดุล ความสมดุลในงานออกแบบแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
...........2.1.1 ความสมดุลแบบสมมาตร คือความสมดุลที่มีลักษณะซ้าย – ขวาเท่ากัน ได้ซึ่งเกิดจากการจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ให้มีปริมาณขนาดน้ำหนักเท่า ๆ กันทั้งซ้าย ทั้งขวา เมื่อแบ่งครึ่งด้วยเส้นแกนสมมุติแนวตั้ง ความสมดุลลักษณะนี้ให้ความรู้สึก นิ่งเฉย มั่นคง แน่นอน จริงจัง มีระเบียบวินัย ดังนั้นจึงมักจะใช้กับเนื้อหาที่เกี่ยวกับงานราชการ เรื่องราวทางศาสนา การเมือง การปกครอง
...........2.1.2 ความสมดุลแบบอสมมาตร คือความสมดุลที่มีลักษณะการจัดองค์ประกอบซ้าย – ขวาไม่เท่ากัน ไม่คำนึงถึงความเท่าเทียมของขนาดและปริมาณ แต่คำนึงถึงน้ำหนักที่ถ่วงดุลกันเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ด้านซ้ายของภาพอาจมีรูปลูกแมว 3 ตัว ด้านขวามีรูปแม่แมวตัวเดียว ทำให้ทั้งสองด้านถ่วงดุลน้ำหนักซึ่งกันและกันได้ ความรู้สึกแบบอสมมาตรให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่นิ่งเฉย ตื่นเต้น เนื้อหาที่มีลักษณะอิสระเป็นกันเองยืดหยุ่นได้ ไม่เคร่งเครียดมากนัก สนุกสนาน ผ่อนคลาย ความสมดุลแบบอสมมาตรจึงค่อนข้างเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นแสดงออกถึงความคิดรสร้างสรรค์ มีอิสระ และท้าทายในการออกแบบ
..........2.2 ความสมดุลของสี สีเป็นสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้โดยตรง สามารถถ่วงน้ำหนักให้เกิดความสมดุลได้ทั้งแบบสมมาตรและแบบอสมมาตร
..........2.3 ความสมดุลของรูปร่าง สิ่งเร้าที่มีรูปร่างต่างกันจะสามารถกระตุ้นให้รู้สึกถึงความสมดุลได้ทั้งแบบสมมาตรและอสมมาตร
..........2.4 ความสมดุลของน้ำหนักหรือความเข้มของสี
..........2.5 ความสมดุลของพื้นผิว พื้นผิวของวัตถุที่มีลักษณะแตกต่างกันจะสามารถก่อให้เกิดความสมดุลได้ทั้งแบบสมมาตรและแบบอสมมาตร
..........2.6 ความสมดุลของตำแหน่งและทิศทาง การจัดวางองค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นในตำแหน่งหรือทิศทางของสายตาจะสามารถถ่วงดุลกับส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มีปริมาณมากกว่าได้ และก่อให้เกิดความสมดุลได้ทั้งแบบสมมาตรและแบบอสมมาตร
3. การเน้น
..........การเน้น (emphasis) เป็นการเลือกย้ำทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งเร้าให้มีความเข้มโดดเด่นกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการรับรู้นิทรรศการได้มากกว่าสิ่งแวดล้อมทั่วไป ทำให้ผู้ชมรับรู้จุดที่เน้นได้ชัดเจนกว่าส่วนอื่นที่มีลักษณะเป็นปกติธรรมดา การเน้นให้เกิดจุดเด่นอาจต้องอาศัยองค์ประกอบศิลป์ ได้แก่ สี แสงเงา พื้นผิว รูปร่าง รูปทรง ซึ่งแต่ละองค์ประกอบมีวิธีเน้นได้หลายวิธี
............3.1 การเน้นด้วยการตัดกัน หมายถึง การจัดองค์ประกอบสำคัญของแต่ละส่วนให้มีความเข้มต่างกันไปในทิศทางตรงกันข้ามจะสามารถดึงดูดความสนใจได้ดีขึ้น
............3.2 การเน้นด้วยการแยกตัวออกไป หมายถึง การจัดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งแยกตัวออกไปจากกลุ่มองค์ประกอบส่วนใหญ่ซึ่งรวมตัวกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน องค์ประกอบที่แยกตัวออกไปจะกลายเป็นจุดเด่น สามารถเน้นให้เกิดความสนใจได้มากขึ้นเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากองค์ประกอบที่
รวมตัวกัน
............3.3 การเน้นเนื้อหาโดยรวม การจัดนิทรรศการโดยเน้นเนื้อหาภาพรวมทั้งหมด ไม่มีการเน้นจุดใดจุดหนึ่งเป็นจุดสนใจโดยเฉพาะ เนื่องจากองค์ประกอบทุกอย่างถูกจัดให้มีคุณค่าต่อการรับรู้และการเรียนรู้พอ ๆ กัน เป็นการสร้างความคิดรวบยอด (concept) ของนิทรรศการให้เด่นชัดครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด การเน้นลักษณะนี้จะช่วยให้เนื้อหาของนิทรรศการมีความเป็นอันหนึ่งเดียวกันหรือมีเอกภาพ ไม่มีส่วนใดแปลกแยกไปจากส่วนรวม
............3.4 การเน้นให้เกิดจังหวะ คำว่า “จังหวะ” หมายถึงตำแหน่งของสิ่งเร้าที่ถูกจัดวางเป็นระยะ ๆ อาจถี่หรือห่างมีทิศทางเดียวกันหรือหลายทิศทาง ขนาดเดียวกันหรือแตกต่างกันหลายขนาด เป็นต้น การจัดองค์ประกอบที่มีลักษณะเดียวกันให้อยู่ในแนวเดียวกันอย่างเป็นระเบียบจะทำให้รู้สึกจริงจังเคร่งเครียดไม่เป็นกันเอง แต่ถ้ากำหนดให้องค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีลักษณะผิดปกติหรือแปลกไปจากส่วนอื่น ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงสี ขนาด รูปร่าง ทิศทางหรือตำแหน่งพื้นผิว ก็จะทำให้ผลงานนั้นมีจังหวะที่น่าสนใจมากขึ้น
............3.5 การเน้นโดยการจัดวางตำแหน่ง การจัดองค์ประกอบให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและทำให้น่าสนใจด้วยเส้น สี รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว เช่น การวางตำแหน่งให้มีทิศทางคล้อยตามกัน การวางตำแหน่งให้อยู่ตรงจุดรวมเส้นรัศมีการวางตำแหน่งโดยใช้เส้นนำสายตาไปยังส่วนสำคัญของภาพ
ตัวอย่างการเน้นให้เกิดจุดเด่นในนิทรรศการ
.........1. การเน้นด้วยสี การจัดป้ายนิเทศเพื่อแสดงองค์ประกอบและกระบวนการเรียนการสอน ผู้จัดเน้นให้สะดุดตาด้วยพื้นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่มีความสว่าง สามารถกระตุ้นการรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาแต่ละตอน
.........2. การเน้นด้วยสีและพื้นผิว อาคารและบริเวณโดยรอบบางส่วนภายในโรงถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด (Holly Wood) เน้นด้วยสีตรงกันข้ามให้ดูตัดกัน กระตุ้นสายตาแลดูฉูดฉาด ตื่นเต้น สร้างความสนุกสนานด้วยลวดลายสีดำตัดกับพื้นสีขาวพื้นผิวที่มีระเบียบแบบแผนของรูปทรงครึ่งวงกลมที่อยู่ติดกัน
.........3. การเน้นด้วยแสง ภาพการจัดนิทรรศการโคมไฟจีนที่เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นโคมไฟรูปต่าง ๆ ที่โดดเด่นท่ามกลางเงามืดรอบด้าน เป็นการเน้นรูปทรงด้วยแสงไฟจากด้านในส่องผ่านวัสดุโปร่งแสง ทำให้ดูผ่องใส สวยงาม
........4. การเน้นด้วยเส้นหรือแถบสี เป็นการเน้นตัวอาคารจัดแสดงนิทรรศการ การด้วยแถบสีเหลืองตัดกับพื้นสีน้ำเงิน ทำให้โดดเด่นมองเห็นจากระยะไกลและสามารถสื่อความหมายได้ดีเมื่อนำเครื่องหมายสัญลักษณ์ของสินค้าหรือบริษัทต่าง ๆ (logo) ที่มีความเกี่ยวข้องกันมาวางเรียงกันบนแถบสีเหลืองทำให้มอง
เห็นชัด
........5. การเน้นด้วยพื้นผิว เป็นการออกแบบในการนำเสนอสินค้าหรือวัสดุจัดแสดง โดยคำนึงถึงความกลมกลืนระหว่างสินค้ากับวัตถุดิบซึ่งเป็นที่มาของสินค้า พื้นที่ทั้งหมดคลุมด้วยเมล็ดถั่วเหลืองจำนวนมากทำให้เห็นเป็นพื้นผิวแบบซ้ำ ๆ ด้วยขนาดเล็ก ๆ ที่ใกล้เคียงกันตัดกับผลิตภัณฑ์กล่องสี่เหลี่ยมทำให้ดูเด่นขึ้นมาจากพื้น สามารถสื่อความหมายโดยภาพรวมของผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์
........6. การเน้นด้วยขนาด ทิศทาง และการเคลื่อนไหว การจัดแสดงสินค้าในงานวันนักประดิษฐ์ ณ กรุงเทพมหานคร สินค้านมถั่วเหลือง ยี่ฮ้อแล็คตาซอย เรียกร้องความสนใจผู้ชมได้ดี เนื่องจากการออกแบบหุ่นจำลองกล่องบรรจุขนาดใหญ่กว่าของจริงหลายเท่าตัวมากทำให้ดูแปลกตา การจัดวางให้กล่องเอียงดูผิดแปลกไปจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ตรงมุมกล่องด้านบนที่เอียงลงจำลองเป็นนมถั่วเหลืองไหลออกจากกล่องลงในแก้วที่วางรองรับอยู่ด้านล่าง การไหลของน้ำนมถั่วเหลืองทำให้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงดูเหมือนเป็นองค์ประกอบที่สามารถกระตุ้นความสนใจได้ดีกว่าองค์ประกอบอื่น
........7. การเน้นด้วยรูปทรงและทิศทางอาคารจัดแสดงนิทรรศการของบริษัท BAYER ในงานบีโอไอ แฟร์ 2000 ที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ออกแบบเป็นรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมคล้ายลูกเต๋าติดตั้งเป็นมุมเอียงทำให้ดูแปลก กระตุ้นความสนใจได้ดีกว่าอาคารอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
........8. การเน้นด้วยขนาด พื้นผิว และรูปทรงอาคารลูกกอล์ฟขององค์การนาซ่า (NASA) มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบเป็นรูปทรงกลมขนาดมหึมา พื้นผิวภายนอกเป็นรูปสามเหลี่ยมลักษณะ 3 มิติ ขนาดเล็ก ๆ จำนวนมาก วางเรียงต่อเนื่องกันอย่างเป็นระเบียบเต็มพื้นที่โดยรอบทั้งหมด
........9. การเน้นด้วยรูปร่าง สี และขนาด การจัดป้ายนิเทศของพิพิธภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็นการเน้นเนื้อหาด้วยรูปภาพที่มีรูปร่างขนาดใหญ่สีอ่อนตัดกับพื้นสีน้ำเงินเข้มทำให้ป้ายนิเทศโดดเด่นและสื่อความหมายได้ชัดเจน
........10. การเน้นด้วยรูปซ้ำ ๆ กัน การออกแบบองค์ประกอบอาคารนิทรรศการของบริษัท MOSTE ในงานบีโอไอ แฟร์ 2000 ณ กรุงเทพมหานคร เน้นด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมสูงจนมองเป็นเส้นหลาย ๆ กัน มีลักษณะซ้ำ ๆ กัน ด้านบนแต่ละเส้นตัดเฉียงลดหลั่นกัน ทำให้ดูเป็นกลุ่มเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
........11. การเน้นด้วยขนาดการเน้นองค์ประกอบของการจัดแสดงด้วยขนาดที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งได้แก่รูปกีต้าร์ขนาดใหญ่หน้าโรงถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลี่วูด นครลอส แองเจลลิส ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นที่สนใจของผู้ชมของทั่วไป เนื่องจากถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษและมีสัดส่วนเหมือนของจริงทุกประการ
การออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์
............ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในแทบทุกวงการ โดยเฉพาะวงการออกแบบกราฟิก ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยให้การสร้างสรรค์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองจินตนาการของนักออกแบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยโปรแกรมซอฟท์แวร์ต่าง ๆ ซึ่งมีตั้งแต่โปรแกรมพื้นฐานง่าย ๆ ไปจนถึงโปรแกรมระดับสูงที่ใช้ในงานอาชีพออกแบบโดยตรง อย่างไรก็ตามนักเขียนโปรแกรมแต่ละโปรแกรมพยายามทำให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด บางโปรแกรมสามารถใช้ได้ง่ายมากแม้ผู้ออกแบบบางคนอาจขาดทักษะด้านกราฟิกก็สามารถออกแบบได้เป็นอย่างดี เพียงแต่มีความรู้พื้นฐานในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับงานกราฟิกก็สามารถผลิตงานได้อย่างสวยงาม เช่นโปรแกรมการนำเสนอ (powerpoint) ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ ซึ่งต้องใช้ทักษะในการออกแบบและทักษะด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยในการสร้างสรรค์ ได้แก่ โปรแกรมการสร้างงานกราฟิก (illustrator) โปรแกรมการตกแต่งภาพ (photoshop) โปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติ (3D) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
วิวรรธน์ จันทร์เทพย์.(2548). การจัดแสดงและนิทรรศการ. คณะครุศาสตร์.
............มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

ภาพตัวอย่าง ต่อ

ภาพตัวอย่าง ต่อ
ภาพแสดงการเน้นด้วยขนาด พื้นผิว และรูปทรง ที่มา (เนาวรัตน์ กล้ายประยงค์, 2541)

ภาพแสดงการเน้นองค์ประกอบของการจัดแสดงด้วยขนาด ที่มา (วิวรรธน์ จันทร์เทพย์, 2541)

ภาพแสดงการเน้นด้วยรูปซ้ำ ๆ กัน ที่มา (วิวรรธน์ จันทร์เทพย์, 2541)

ภาพแสดงการเน้นด้วยรูปร่าง สี และขนาด ที่มา (วิวรรธน์ จันทร์เทพย์, 2541)

ภาพแสดงภาพป้ายโฆษณาที่ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ที่มา (วิวรรธน์ จันทร์เทพย์, 2547)

ภาพ แสดงแผ่นพับที่ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ที่มา (Hall of Health, 1998)